กากแคดเมี่ยม มาจากไหน ส่งไปไหน

แหล่งที่มาของกากแร่แคดเมียมที่กำลังว้าวุ่นอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ มันมาจากไหน กำลังจะเอาไปไหน ขออธิบายสั้นๆ ดังนี้ครับ

เดิมแหล่งแร่สังกะสีในประเทศไทยถูกค้นพบอยู่ที่ดอยผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตากโดยทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากสงครามสงบได้มีการพยายามพัฒนาเป็นเหมืองเพื่อนำแร่ดิบออกมาขายหรือตั้งโรงถลุงแร่ หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาในสมัยพล.อ. เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อตั้งบริษัทผาแดงอินดัสตรี้จำกัดในปี 2524 โดยมีกระทรวงการคลังเป็นแกนนำในการลงทุนและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดร่วมทุนกับเอกชนไทยและเอกชนเบลเยี่ยม เพื่อพัฒนาแหล่งแร่นี้พร้อมทั้งสร้างโรงถลุงแร่ที่ทันสมัยที่สุดในอำเภอเมืองตากซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตของยุโรป โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมกระบวนการผลิตแบบอัตโนมัติ 100% ตั้งแต่การป้อนวัตถุดิบซึ่งเป็นสินแร่เข้าโรงงานจนถึงได้ผลิตภัณฑ์ก้อนโลหะสังกะสีบริสุทธิ์ Zinc Ingot 99.99% ออกมาเพือทดแทนการนำเข้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยได้สำเร็จล๊อตแรกในปี 2527 นับเป็นโรงถลุงแร่สังกะสีแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ข้อมูลสำคัญมีดังต่อไปนี้

1)เหมืองแร่สังกะสี มีลักษณะเป็นภูเขาชื่อดอยผาแดง อยู่ในอำเภอแม่สอด จ. ตาก

2) โรงถลุงสังกะสี ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

3) เหมืองแร่ กับ โรงถลุงแร่ อยู่ห่างกันประมาณ 80 กม. ต้องขนแร่จากเหมืองแม่สอดมาถลุงที่โรงงานซึ่งตั้งในอำเภอเมืองตากครับ

4) การถลุงแร่สังกะสี มีผลพลอยได้ตามมาคือกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียม ซึ่งเป็นกากแร่ที่เกิดจากการสกัดเอาสังกะสีในโรงงานถลุงแร่ให้เป็นโลหะสังกะสีออกมาใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศบางส่วน

5) กากแร่ทั้งสองชนิดดังกล่าวจะถูกนำไปบำบัดให้อยู่ในสภาวะเสถียรก่อนนำไปฝังกลบในบ่อเก็บกากแร่ที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นมาตามมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม ( EIA ) ที่กำหนดไว้เป็นอย่างดี บ่อเก็บกากนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณที่ดินของโรงถลุงสังกะสีในอำเภอเมืองตากซึ่งมีพื้นที่ที่ดินรวมประมาณ 1,500 ไร่

6) ต่อมาเมื่อสินแร่สังกะสีในเหมืองแม่สอดหมดลง บริษัทผาแดงได้นำเข้าสินแร่จากต่างประเทศมาถลุงต่อเนื่องได้ระยะหนึ่งซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการอีกต่อไป โรงถลุงแร่นี้จึงต้องหยุดการผลิตประมาณปี 2560 และได้มีนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่งเข้ามาซื้อหุ้นส่วนใหญ่เป็นการเทคโอเวอร์บริษัทผาแดงไป ดังนั้นทรัพย์สินและที่ดินรวมทั้งบ่อเก็บกากแร่ทั้งหมดจึงเป็นของนักลงทุนรายใหม่ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อบริษัทผาแดงอินดัสตรี้จำกัด(มหาชน)เป็นบริษัทเบาด์แอนบียอนด์จำกัด(มหาชน) ในปี 2564 ทั้งนี้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผาแดงยังคงถือครองหุ้นอยู่ในบริษัทใหม่นี้อยู่ประมาณ 10% จนถึงปัจจุบัน

7) เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 บริษัทเบาด์แอนด์บียอนด์ ได้ทำการขออนุญาตขนย้ายกากแร่แคดเมียม จำนวน 15,000 ตันจากบ่อเก็บกากแร่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงถลุงสังกะสีเดิมเพื่อส่งไปยังโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร โดยยื่นขออนุญาตต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตากซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบและได้รับอนุมัติอย่างถูกต้องก่อนดำเนินการขนย้ายออกไป ต่อมาภายหลังพบว่าได้เกิดปัญหาขึ้นที่โรงงานปลายทางซึ่งไม่มีคุณสมบัติหรือเทคโนโลยีเพียงพอที่จะทำการรีไซเคิลหรือแปรรูปกากแคดเมียมที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังพบว่ามีการส่งต่อหรือแยกส่งกากแร่ดังกล่าวบางส่วนไปเก็บไว้ในโรงงานอื่นในเครือข่ายของผู้ซื้ออีก 3-4 แห่ง ทำให้ทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องว้าวุ่นตามที่เป็นข่าวในช่วงก่อนสงกรานต์ปีนี้ และทราบว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีคำสั่งให้ส่งกากแร่แคดเมียมดังกล่าวทั้งหมดกลับไปยังบ่อเก็บกากแร่ที่เดิมในจังหวัดตากเพื่อยุติปัญหาต่างๆทั้งหมด

8) ความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยคือกรมโรงงานอุตสาหกรรมควรต้องปรับปรุงกระบวนการขออนุญาตขนย้ายกากแร่ให้รัดกุมกว่านี้ โดยต้องพิสูจน์ทราบโรงงานหรือจุดปลายทางให้ชัดเจนว่าต้องปลอดภัยและมีมาตรการป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีก่อนอนุญาตให้ขนย้ายกากแร่หรือสิ่งปฏิกูลใดๆ รวมทั้งต้องมีการควบคุมกระบวนการดำเนินการอย่างเข็มงวดจนเสร็จสิ้นด้วยครับ

เขียนโดย…
นายสมศักด์ ศรีสมทรัพย์
อดีตวิศวกรโรงถลุงแร่สังกะสี บริษัทผาแดงอินดัสตรี้จำกัด (มหาชน)
วันที่ 14 เมษายน 2567

ภาพ / กรุงเทพธุระกิจ

Facebook Comments