รายงานฉบับใหม่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เผยให้เห็นความกังวลเรื่องหนึ่ง คือสถิติการใช้ถุงยางอนามัยของวัยรุ่น Gen Z ลดลงอย่างน่าตกใจ แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะพุ่งสูงก็ตาม
WHO เปิดรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม เป็นการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15 ปี กว่า 242,000 คนใน 42 ประเทศ ระหว่างปี 2014 ถึง 2022 พบว่า วัยรุ่นชายราว 20 เปอร์เซ็นต์ และวัยรุ่นหญิง 15 เปอร์เซ็นต์ มีประสบการณ์ทางเพศแล้ว โดยตัวเลขในปี 2022 ไม่ได้เพิ่มไปจากเมื่อหลายปีก่อน
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ รายงานปี 2022 บอกว่า เด็กวัยรุ่นที่เริ่มมีกิจกรรมทางเพศในวัย 15 ปี ใช้ถุงยางอนามัยลดลงเรื่อยๆ โดยวัยรุ่นชายใช้ถุงยาง 61 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจาก 70 เปอร์เซ็นต์ในปี 2014 ส่วนวัยรุ่นหญิงใช้ถุงยาง 57 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากการสำรวจก่อนหน้าที่เคยใช้ 63 เปอร์เซ็นต์
และ 30 เปอร์เซ็นต์จากตัวอย่างสำรวจให้ข้อมูลว่า ในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดของวัยรุ่นหญิงชายเหล่านี้ไม่ได้ใช้ทั้งถุงยางและยาคุมกำเนิด
สถิติการใช้ถุงยางอนามัยแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ วัยรุ่นหญิงแอลเบเนียมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยต่ำที่สุด 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะเด็กสาวเซอร์เบียใช้ถุงยางอนามัย 81 เปอร์เซ็นต์
ด้านวัยรุ่นชาย ประเทศที่ใช้ถุงยางน้อยที่สุดคือสวีเดน ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประเทศที่คนหนุ่มใช้ถุงยาง 77 เปอร์เซ็นต์อย่างสวิตเซอร์แลนด์ แม้จะเป็นกลุ่มยุโรปเหมือนกัน แต่ถือว่าตัวเลขนี้ห่างกันมาก
WHO ระบุว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอาจนำไปสู่การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม การทำแท้งไม่ปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น และข้อมูลในรายงานยังบอกว่า วัยรุ่นจากครอบครัวยากจนมีแนวโน้มไม่ใช้ถุงยาง 33 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ครอบครัวฐานะดีกว่าอยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่า สถานะทางเศรษฐกิจมีผลต่อการใช้ถุงยางอนามัยในวัยรุ่น Gen Z
“แม้ว่าผลการค้นพบในรายงานจะน่าตกใจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ” ดร.ฮันส์ คลูจ ผู้อำนวยการ WHO ประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวในแถลงการณ์
“การศึกษาเรื่องเพศอย่างครอบคลุมตามวัยยังคงถูกมองข้ามในหลายประเทศ และวิชาเพศศึกษาถูกโจมตีมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะมีสมมติฐานผิดๆ ว่าการเรียนวิชาเพศศึกษาจะไปส่งเสริมกิจกรรมเพศ แต่ความจริงก็คือ การให้ความรู้ที่ถูกต้องกับเยาวชนในเวลาที่เหมาะสมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีที่สุด เชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมและการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ”
WHO ได้ออกคำเตือนล่าสุดโดยระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขสถานการณ์วัยรุ่น Gen Z ไม่ใช้ถุงยาง โดยเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ รับประกันการเข้าถึงวิชาเพศศึกษาอย่างถูกต้อง และทำให้เยาวชนเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้ง่ายขึ้น
“ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เราพยายามทำเพื่อคนหนุ่มสาวคือวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับชีวิตและความรัก” ดร.คลูจกล่าว “สุขภาพ สิทธิทางเพศ และการสืบพันธุ์ซึ่งได้รับข้อมูลที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับบริการด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง การให้อำนาจแก่วัยรุ่นในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศของตนเองอย่างรอบรู้ จะช่วยให้เราปกป้องและปรับปรุงความเป็นอยู่โดยรวมของพวกเขาได้ในที่สุด”
อ้างอิง: Global News, AP News, WHO, The Guardian