ประเพณีแห่นางกระดาน (หรือแห่นางดาน) เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า ที่พราหมณ์ในนครศรีธรรมราชสมัยโบราณที่นับถือพระอิศวรเป็นเจ้าปฏิบัติกันมาในช่วงเดือนยี่ (หรือเดือนบุษยมาส) ของทุกปี เพิ่งจะเลิกไปเมื่อ พ.ศ.2503 แก่นแท้หรือหัวใจของประเพณีแห่นางกระดาน ก็คือการอัญเชิญเทพชั้นรองสามองค์มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมาเยี่ยมมนุษยโลกในช่วงวันขึ้น 7 ค่ำ ถึงวันแรมค่ำเดือนยี่ (รวมเวลาเสด็จมาเยี่ยม 10 ราตรี) เทพชั้นรองสามองค์ที่พราหมณ์ในนครศรีธรรมราชอัญเชิญมารับเสด็จนี้ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี และพระคงคา เทพดังกล่าวนี้จารึกหรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ขนาดกว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก ชาวนครเรียกไม้แกะสลักดังกล่าวนี้ว่า “นางกระดาน” เมื่อถึงวันพิธีการพราหมณ์ก็อัญเชิญนางกระดานทั้งสามนี้มายังเสาชิงช้าในหอพระอิศวร เพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลกมาที่เสาชิงช้าดังกล่าว