เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567, จังหวัดนครศรีธรรมราช – ดีป้า พร้อมกับ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum)’ ผลงานนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ที่ชนะเลิศการประกวด SCA#2 Final Pitching เพื่อต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่นผ่านเทคโนโลยี AR/VR ให้กับนักท่องเที่ยวและเยาวชนในพื้นที่ อีกทั้งชุบชีวิตแหล่งท่องเที่ยวให้กลับมามีสีสันอีกครั้ง
ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (The Smart City Ambassadors 2(SCA#2))
ที่ดำเนินการโดย ดีป้า มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มีโอกาสได้กลับไปร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนเองด้วยความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและทักษะสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับจากโครงการฯซึ่งคนรุ่นใหม่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาบ้านเมือง ขณะเดียวกัน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์ที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมจากคนในท้องถิ่น ดีป้าจึงมุ่งส่งเสริมการพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เพื่อเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อแนวคิดและวิธีการใหม่ ผสานกับขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม
“สำหรับโครงการ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum)’ เป็นผลงานของนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ที่บูรณาการการทำงานกับเจ้าหน้าที่ของทางเทศบาลนครนครศรีธรรมราช จนได้รับรางวัลชนะเลิศ
จากการประกวด SCA#2 Final Pitching และได้ริเริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เฟสที่ 1 เมื่อปี 2566 ซึ่งได้รับการตอบรับในพื้นที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราชเป็นอย่างดี อีกทั้งช่วยส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้าน Smart People และSmart Economy ในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งดีป้า เล็งเห็นถึงศักยภาพของโครงการดังกล่าวจึงให้การสนับสนุนเพื่อขยายผลการดำเนินโครงการในเฟสที่ 2” รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ดร.กณพ เกตุชาติ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช กล่าวว่า นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์สำคัญมาอย่างยาวนานกว่า 1,500 ปี เป็นพื้นที่ที่มีศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลายแห่งหนึ่งของประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
“โครงการพิพิธภัณฑ์มีชีวิตถือเป็นโครงการที่ช่วยต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม (Soft Power) ยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยว พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลร่วมสมัยอย่าง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เพื่อชุบชีวิตให้
พิธภัณฑ์ พร้อมกันนี้ยังเป็นการมอบประสบการณ์ใหม่ที่น่าจดจำให้กับนักท่องเที่ยวสร้างสรรค์วิธีการใหม่ในการเรียนรู้และอนุรักษ์วัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลัง และยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้สอดรับกับการเป็นเมืองอัจฉริยะ” นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราชกล่าว
ทั้งนี้ โครงการพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Living Museum) เป็นโครงการที่นักพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2
ของเทศบาลนครนครศรีธรรมราชได้รับรางวัลชนะเลิศ 1 ใน 3 โครงการจากกิจกรรม SCA#2Final Pitching โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการใหญ่ “Seed Thailand” โดยโครงการพิพิธภัณฑ์มีชีวิต เฟสที่1 ดำเนินการเล่าเรื่องเกี่ยวกับหอพระอิศวร สถานที่ประกอบประเพณีโล้ชิงช้า และแห่นางดาน หนึ่งเดียวในโลก ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มีการใช้งานมากกว่า 13,000 ครั้งหลังเปิดใช้งานเพียง 5 เดือน โครงการดังกล่าวจึงเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวและ
การเรียนรู้รูปแบบใหม่ผ่านการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันถึงประสิทธิผลของกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างนักดิจิทัลพัฒนาเมือง เทศบาล และภาคีเครือข่ายในพื้นที่อย่าง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ดีป้า และ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จึงขยายผลโครงการในเฟสที่2 โดยเพิ่มเติมเนื้อหาการเล่าเรื่องบริเวณกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชที่เล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจด้วยเทคโนโลยี AR อาทิ สลัดอุชงทนะห์ การล่องเรือในสมัยก่อน อีกทั้งยังมีการเพิ่มฟังก์ชั่นอย่างแผนที่ดิจิทัล(Digital Map) โดยระบุตำแหน่ง 9 สถานที่แนะนำบนถนนราชดำเนิน นอกจากนี้ยังมีการเล่าเรื่องเหรียญตรานโม เครื่องรางศักดิ์สิทธิด้วยเทคโนโลยี VR
และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ดีป้า และเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ฉบับใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงการต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Solution) ยกระดับทักษะด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้กับบุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นให้ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นเมืองอัจฉริยะที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
———————————————————————
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)
โทร: 080-684-7759 (ณัทพัฒน)